ปัจจัยที่จะช่วยให้เด็กรักษาระดับความกระหายอยากรู้เอาไว้ได้คือความอยู่เหนือตนเอง เรียกว่า เมตตาคอกนิชั่น
การศึกษามิได้ให้ความรู้ หรืออำนวยความสะดวกให้เด็กเรียนรู้เท่านั้น การศึกษามีหน้าที่ “ทำให้เด็กรู้ว่าตนเองไม่รู้อะไร” ด้วย
ปัญหาของบ้านเราคือคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายหรือผู้บริหารระดับสูงมักคิดว่าตนเองรู้แล้ว ที่พวกเขาขาดไปคือความสามารถที่จะบอกว่าตัวเองไม่รู้

และไม่รู้ด้วยว่ากำลังไม่รู้อะไร
ความสามารถนี้เป็นนามธรรมมาก ต้องการเครื่องมือหลายชิ้น
หนึ่งคือภาษาเอาไว้บรรทุกความคิด
สองคือกรอบความคิดเพื่อเอาไว้ออกนอกกรอบ
สามคือจินตนาการเพื่อคิดถึงเรื่องเป็นไปไม่ได้
ทั้งสามประการได้มาจากการศึกษาระดับอนุบาลที่เตรียมความพร้อม คืออ่าน เล่น ทำงานมากพอและนานพอ ตามด้วยการศึกษาระดับประถมที่มุ่งเน้น “การแก้ปัญหาด้วยการลงมือทำมากพอ”
ภาษาจะเป็นเรื่องสำคัญมากที่บ้านเราฝ่าไม่ผ่าน เพราะเราเน้นการอ่านออก แต่เราบังคับให้เด็กอ่านออกเร็วเกินไปจนสูญเสียความสามารถอ่านเอาเรื่อง
บ้านเราเน้นอ่านความรู้ที่เป็นรูปธรรมมากเสียจนจิตใจแข็งกระด้าง แต่สูญเสียความสามารถอ่านจิตใจผู้คนซึ่งจะมีปรากฏในหนังสือวรรณคดี วรรณกรรม ตำนาน นวนิยาย นิยาย หรือนิทาน พอจะอ่านก็ถูกบังคับให้ต้องเชื่อ และตอบข้อสอบตามนั้น
เราเน้นการอ่านเพื่อสอบ แทนที่จะอ่านให้สนุก
Cr. นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์